mahachon
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

กฎหมายมหาชน

                               หลักกฎหมายมหาชน เป็นการศึกษาถึงความหมายและพัฒนาการของกฎหมายมหาชน แนวความคิดพื้นฐาน ลักษณะเฉพาะและบทบาทความสำคัญของกฎหมายมหาชน ความหมาย องค์ประกอบและรูปแบบของรัฐ ความเป็นนิติบุคคล และสถาบันต่าง ๆ ของรัฐ การปกครองโดยกฎหมาย บ่อเกิดของกฎหมายมหาชน และนิติวิธีของกฎหมายมหาชน กฎหมายมหาชนมิได้เน้นที่ตัวบทกฎหมาย แต่เน้นที่การศึกษาปรัชญา แนวความคิด และทฤษฎีต่าง ๆ อันเป็นที่มาของหลักกฎหมายมหาชน และยังมีความเกี่ยวโยงอยู่กับแนวทางของวิชารัฐศาสตร์อยู่อีกด้วย ซึ่งนิติปรัชญาและนิติวิธีของกฎหมายมหาชนนั้นมีหลักการ แนวความคิด และวิธีวิเคราะห์ปัญหาที่แตกต่างกับกฎหมายเอกชน

              ความแตกต่างของกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชน

              1. ความแตกต่างขององค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ 

            กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ใช้เมื่อองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์คือรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง โดยฝ่ายรัฐนั้นมีฐานะเหนือกว่าเอกชน

            ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่ใช้เมื่อนิติสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นระหว่าง
ผู้อยู่ใต้ปกครองด้วยกัน (คือเอกชนกับเอกชน) ในฐานะที่เท่าเทียมกัน โดย
ผู้ปกครองไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

              2. ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย

            กฎหมายมหาชน มีจุดมุ่งหมายเพื่อสาธารณประโยชน์และการดำเนินการบริการสาธารณะโดยไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องผลกำไร

             ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละคนหรือเฉพาะบุคคล เว้นแต่ในบางกรณีที่เอกชนอาจทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็ได้ เช่น การตั้งมูลนิธิหรือสมาคมเพื่อการกุศลและ
สาธารณประโยชน์

              3. ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์

             กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการบังคับและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะออกมาในรูปของคำสั่งหรือข้อห้ามที่เรียกว่า "อำนาจบังคับฝ่ายเดียว" กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับเอกชนได้ โดยที่เอกชนไม่จำเป็นต้องตกลงยินยอมสมัครใจด้วย เช่น การออกกฎ (เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ฯลฯ) หรือการออกคำสั่งทางปกครอง (เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง การรับจดทะเบียน ฯลฯ) ของฝ่ายปกครอง เป็นต้น

             ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีอิสระในการแสดงเจตนา มีความเสมอภาค และเสรีภาพในการทำสัญญา เช่น การทำสัญญาในทางแพ่งนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยการแสดงเจตนาโดยความสมัครใจของคู่สัญญา (คำเสนอกับคำสนองถูกต้องตรงกัน) คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไปบังคับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้มาทำสัญญาด้วยไม่ได้ เป็นต้น

              4. ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี

            กฎหมายมหาชน มีแนวความคิดหรือการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบในแนวทางตามแบบของกฎหมายมหาชน (นิติวิธีทางกฎหมายมหาชน) โดยจะไม่นำกฎหมายเอกชนมาปรับใช้โดยตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นตามกฎหมายมหาชน

              ส่วนกฎหมายเอกชน มีแนวความคิด (นิติวิธี) อย่างเป็นระบบในแนวทางตามกฎหมายเอกชน ซึ่งจะเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน และมุ่งรักษาประโยชน์ของเอกชนด้วยกันเอง

              5. ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา

         กฎหมายมหาชน มีปรัชญาที่มุ่งประสานผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ของเอกชน ในลักษณะเพื่อให้เกิดความสมดุลของประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรืออีกนัยหนึ่งคือ มุ่งเน้นความยุติธรรมที่สมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างหนึ่ง กับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของเอกชนอีกอย่างหนึ่ง

              ส่วนกฎหมายเอกชน มีปรัชญาที่มุ่งเน้นความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันและตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพแห่งความสมัครใจของคู่กรณี ความไม่สมัครใจ การข่มขู่บังคับ หรือกลฉ้อฉลในกฎหมายเอกชน ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผูกพันทางกฎหมายขึ้น (อาจเป็นโมฆะหรือโมฆียะแล้วแต่กรณี)

               6. ความแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาล

               ปัญหาทางกฎหมายมหาชนจะนำขึ้นสู่ศาลพิเศษ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับคดีปกครองจะนำขึ้นสู่ศาลปกครอง ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะนำขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องภาษีจะนำขึ้นสู่ศาลภาษี เป็นต้น

            ส่วนปัญหาตามกฎหมายเอกชนนั้นจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เช่น คดีแพ่งหรือคดีอาญา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นย่อมต้องขึ้นสู่ศาลแพ่งหรือศาลอาญาแล้วแต่กรณี

                นอกจากนั้นวิธีพิจารณาคดียังแตกต่างกัน กล่าวคือ วิธีพิจารณาคดีของศาลในกฎหมายมหาชนจะใช้ "ระบบไต่สวน" คือ ผู้พิพากษาจะเป็นผู้สืบหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ ส่วนวิธีพิจารณาคดีตามกฎหมายเอกชนจะใช้ "ระบบกล่าวหา" คือ ผู้เป็นคู่กรณีจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตนเอง

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 4,301 Today: 3 PageView/Month: 4

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...